วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

มาตรฐานไอเอสโอ(ISO)คืออะไร (ตอนที่1)

มาตรฐานไอเอสโอ(ISO)คืออะไร มีกี่ประเภท


ISO มาจากคำว่า International Standardization and Organization มีชื่อว่าองค์การมาตรฐานสากล หรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน ก่อตั้งเมื่อปีค.ศ.1946 หรือพ.ศ.2489 มีสำนักงานอยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีวัตถุประสงค์คล้ายๆกับองค์การการค้าอื่นๆของโลก คือจัดระเบียบการค้าโลก ด้วยการสร้างมาตรฐานขึ้นมา ใครเข้าระบบกติกานี้ถึงจะอยู่ได้

ช่วงที่ ISO ก่อตั้งขึ้น เป็นช่วงสงครามโลกก็เพิ่งจะจบลงใหม่ๆ ดังนั้นประเทศต่างๆก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก ต่างคนต่างขายของ โดยมีระบบมาตรฐานไม่เหมือนกัน

จนกระทั่งในปี 2521 เยอรมนีเป็นตัวตั้งตัวตีให้ทั่วโลกมีมาตรฐานคุณภาพสินค้าเดียวกัน ส่วนองค์กรมาตรฐานโลกก็จัดตั้งระบบ ISO/TC176 ขึ้น

ต่อมาอีก1ปี อังกฤษพัฒนาระบบคุณภาพที่เรียกว่า BS5750 ใช้ในเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ จากนั้นในปี 2530 ISO จึงจัดวางระบบการบริหารเพื่อการประกันคุณภาพที่สามารถตรวจสอบได้ผ่านระบบเอกสาร หรือที่เรียกว่า อนุกรมมาตรฐาน ISO 9000 เป็นมาตรฐานที่กำหนดใช้ในทุกประเทศทั่วโลก

ตัวเลข 9000 เป็นชื่ออนุกรมหนึ่ง ที่แตกแยกย่อยความเข้มของมาตรฐานงานออกเป็นอีก 3 ระดับ คือ ISO 9000, ISO 9001 และ ISO 9003 นอกจากนี้ยังมีอีกอนุกรมหนึ่งคือ ISO 14000 เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมและระบบคุณภาพ

ISO 9000 เป็นแนวทางในการเลือก และกรอบในการเลือกใช้มาตรฐานชุดนี้ให้เหมาะสม

ISO 9001 มีระดับความเข้มมากที่สุด คือหน่วยงานที่จะได้รับอนุมัติว่ามีระบบคุณภาพมาตรฐานสากลในระดับนี้จะต้องมีรูปแบบลักษณะการทำงานในองค์กรตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ 20 ข้อ โดยมีการกำกับดูแลตั้งแต่การออกแบบ การพัฒนา การผลิตและการบริการ ยกตัวอย่างชื่อหัวข้อที่พอจะเข้าใจ เช่น กลวิธีทางสถิติ การตรวจสอบการย้อนกลับของผลิตภัณฑ์ การจัดเก็บการเคลื่อนย้าย เป็นต้น

ISO 9002 ก็จะเหลือเพียง 19 ข้อ ดูแลเฉพาะระบบการผลิต การติดตั้งและการบริการ (ตัดกลวิธีทางสถิติออกไป)

ส่วน ISO 9003 เหลือแค่ 16 ข้อ ดูแลเฉพาะการตรวจสอบขั้นสุดท้าย

ISO 9004 เป็นแนวทางในการบริหารระบบคุณภาพเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นต้น

ถ้าอธิบายด้วยภาษาง่ายๆ ISO 9000 ก็คือ การกำหนดมาตรฐานสากลในการจัดระบบงานของหน่วยงานให้ตรงตามที่มาตรฐาน ISO 9000 กำหนดไว้

หน่วยงานที่คิดว่าตนเองจัดรูปแบบได้ตามที่ ISO 9000 กำหนดไว้แล้วจะมีหน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบและออกใบรับรองให้อย่างเป็นทางการ คือ สมอ. หรือ สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ 10400 โทร. 0-2202-3428 และ 0-2202-3431

อย่างไรก็ตามมีบริษัทต่างชาติที่เข้ามาเป็นผู้ตรวจสอบและสามารถออกใบรับรองให้ได้

ขั้นตอนการขอ ISO 9000 เริ่มจากการขอข้อมูล ยื่นคำขอ ตรวจประเมิน ออกใบรับรอง ตรวจติดตาม ตรวจประเมินใหม่

ส่วนการเตรียมระบบคุณภาพมี 4 ข้อใหญ่ๆ คือ

1.ทบทวนสถานภาพกิจการปัจจุบัน

2.จัดทำแผนการดำเนินงานและระบบเอกสาร

3.นำระบบบริหารงานคุณภาพไปปฏิบัติ

4.ตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบคุณภาพ

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเรื่องนี้ตกประมาณ 2-3 แสน

ถ้าเป็นสินค้าหรือบริการส่งออก รัฐบาลจะช่วยออกเงินให้ครึ่งหนึ่ง

ส่วนเวลาดำเนินการจะประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี

ISO ใช้วัดคุณภาพ ทั้งด้าน

1.โรงแรม ภัตตาคารและการท่องเที่ยว

2.กลุ่มคมนาคม สนามบิน และการสื่อสาร

3.สาธารณสุข โรงพยาบาล

4.ซ่อมบำรุง

5.สาธารณูปโภคต่างๆ

6.การจัดจำหน่าย

7.มืออาชีพ การสำรวจ ออกแบบ ฝึกอบรม และที่ปรึกษา

8.บริหารบุคลากร และบริการในสำนักงาน

9.วิทยาศาสตร์ การวิจัยและพัฒนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น